
นักเตะ”พระเกี้ยว”จุฬาลงกรณ์ฯ แซงชนะ “ลูกโดม”ธรรมศาสตร์ 2-1 ด้วยสกอร์เหมือนครั้งที่ผ่านมา ศึกฟุตบอลประเพณี “จุฬา-ธรรมศาสตร์” ครั้งที่ 74 ที่สนามศุภชลาศัย มื่อช่วงเย็นวันที่ 8ก.พ.

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การคุมทัพของ “โค้ชบู๋” จักรราช โทนหงษา ส่งบรรดานักเตะดีกรีทีมชาติไทย อย่าง ศิวรักษ์ เทศสูงเนิน, นฤบดินทร์ วีรวัฒโนดม, พรรษา เหมวิบูลย์, สรวิทย์ พานทอง และ ธีรเทพ วิโนทัย ลงสนามเป็นตัวจริง ส่วนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุมทีมโดย “โค้ชวัง” ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล มี สฤงคาร พรหมสุภะ คุมเกมรับ , สารัช อยู่เย็น เล่นคู่กลางกับ อภิภู สุนทรพนาเวศ และวาง รชานนท์ ศรีนอก กับ วีรภัทร นิลบูรพา เป็นหัวหอก

เริ่มเกมมาแค่ 1 นาที มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ประตูขึ้นนำไปก่อน 1-0 จากจังหวะเปิดฟรีคิกกลางสนาม บอลหลุดเข้าไปในเขตโทษฝั่งขวา นรุตม์ชัย นิ่มบุญ ตวัดเข้ากลางให้ ศฤงคาร พรหมสุภะ เข้าชาร์จตุงตาข่าย หลังจากนั้นนักเตะ”จามจุรี”พยายามบุกหนักและมาทวงประตูตีเสมอจาก ธีรเทพ วิโนทัย นาที37

ก่อนหมดเวลา3นาที จุฬาฯ เจ้าภาพครั้งนี้ ได้มีโอกาสพลิกแซง 2-1 จากลูกยิงของ สรวิทย์ พานทอง หมดครึ่งแรก จุฬาฯพลิกนำ2-1
ครึ่งหลัง นักเตะ”ลูกโดม”พยายามจะทวงประตูคืน แต่จังหวะสุดท้ายไม่เด็ดขาด หมดเวลา จุฬาฯชนะ 2-1 สกอร์เท่ากับปีที่ผ่านมา และป้องกันแชมป์สำเร็จ

ทั้งนี้ ฟุตบอลประเพณีฯ จัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2477 สำหรับสถิติที่พบกัน ธรรมศาสตร์ ชนะ 24 คร้ัง จุฬาฯ ชนะ 18 คร้ัง และเสมอ 32 คร้ัง

ขณะที่ การแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเจ้าภาพ ในปีนี้ จัดภายใต้แนวคิด “Make a CHANGE เปลี่ยน ปรับ ขยับสังคม” เพื่อปลุกกระแสสังคม ให้ตระหนักรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยทางจุฬาฯ ได้นำเสนอแนวคิดนี้ผ่านกิจกรรมไฮไลต์ต่าง ๆ โดยเฉพาะการแข่งขันฟุตบอลระหว่างสองสถาบัน ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นแมตช์สำคัญที่จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ได้เปิดโอกาสให้นักฟุตบอลซึ่งเป็นนิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบันที่ผ่านการศึกษาในรั้วจามจุรีและรั้วแม่โดมได้เข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการลงสนามแข่งขันฟุตบอลเพื่อความสามัคคีในครั้งนี้

สำหรับปีนี้ จุฬาฯ และธรรมศาสตร์ได้จัดขบวนพาเหรดเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดหลักของงาน โดยทางจุฬาฯ มีขบวนพาเหรด 3 ขบวน ได้แก่ ขบวนธง ขบวนสะท้อนสังคม และขบวนสื่อแนวคิดหลัก โดย “ขบวนธง” ในปีนี้ มีการเปลี่ยนและปรับให้ทันสมัย เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลง ในยุคสมัยที่คุณค่าในสังคมไม่ได้มีเพียงรูปแบบเดียว ตามมาด้วย “ขบวนสะท้อนสังคม” ที่เรียงร้อยเนื้อหาที่ต้องการจะส่งสารแก่สังคม เพื่อให้สังคมได้เล็งเห็นและตระหนักถึงปัญหาต่าง ๆ อันได้แก่ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาการใช้โซเชียลมีเดีย ปัญหาความคิดแบบ binary opposition เป็นต้น จากนั้น “ขบวนสื่อแนวคิดหลัก” จะนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาผ่าน 3 ขั้นตอน คือ 1) ทุกคนตระหนักถึงสิทธิและความเท่าเทียมกัน 2) ทุกคนคิดและถกเถียงถึงปัญหาที่มีอยู่ร่วมกัน และ 3) ตั้งเป้าสังคมที่ทุกคนวาดฝันร่วมกัน

ด้านธรรมศาสตร์ได้นำเสนอแนวคิดนี้ด้วยไฮไลต์ของ “ขบวนสื่อแนวคิดหลัก” ที่หยิบยกเรื่อง Social Bullying ขึ้นมาในปีนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียในสังคม ให้เกิดความสร้างสรรค์และไม่ทำให้ใครตกเป็นจำเลยสังคม ผ่านคำพูดว่า “your words have power use them wisely” คำพูดของทุกคนมีพลัง เราสามารถสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่าเดิมด้วยคำพูดของเรา พร้อมรณรงค์ให้คิดก่อนทำ และใช้ social media ให้เป็นประโยชน์ด้วยการเปลี่ยน ปรับ ขยับสังคมที่เริ่มจากตัวทุกคนเอง นอกจากนี้ยังมี “ขบวนล้อการเมือง” ที่เป็นไฮไลต์ที่น่าจับตามองในทุกปี ซึ่งในปีนี้ยังคงสื่อถึงประเด็นทางสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนให้เห็นสภาพของสังคมและความเคลื่อนไหวในมิติต่าง ๆ อย่างหลากหลาย และสอดคล้องกับแนวคิดของการจัดงานในปีนี้

นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกที่จุฬาฯ และธรรมศาสตร์ได้ร่วมกันจัดแคมเปญ “Waste This Way รักษ์โลกให้ถูกทาง” เพื่อส่งเสริมการจัดการขยะอย่างถูกต้องในงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 74 ผ่านคอนเซปต์ “ลด เปลี่ยน แยก” โดยการ “ลด” ใช้ผลิตภัณฑ์แบบ Single use รวมถึงลดวัสดุที่ไม่จำเป็นและส่งเสริมให้พกภาชนะส่วนตัว “เปลี่ยน” แพจเกจจิ้งอาหารในงาน ให้เป็นวัสดุ compostable และเปลี่ยนวัสดุในการทำพาเหรดให้ดีต่อโลกมากขึ้น และ “แยก” ขยะทุกชิ้นภายในงาน เพื่อนำไป reuse recycle & upcycling ต่ออย่างเหมาะสม โดยทุกคนสามารถมีส่วนได้ง่าย ๆ เพียงพกแก้วส่วนตัวมารับเครื่องดื่มฟรีที่ซุ้มน้ำ Waste This Way และแยกขยะในงานให้ถูกต้อง ตามถังขยะ ซึ่งทุกจุดจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำอธิบายอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งต่อแนวคิดเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าให้กับคนรุ่นใหม่ และหลังจากจบงาน การจัดการขยะจะถูกนำไปคำนวณเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดไปได้ และขยะพลาสติกจะถูกนำไปอัพไซเคิลเป็นรองเท้าให้โรงเรียนที่ขาดแคลน



